การคิดแบบ 2 ขั้ว (Polarity Thinking) เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม Workshop ชื่อ IDG Deep Drive: Bridging Polarities ที่จัดโดย Inner Development Goals (Global Community) เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 68 โดยได้เรียนรู้เรื่อง Polarity Thinking จากคุณ Barry Johnson ผู้คิดค้น และคุณ Cliff Kayser ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเรียนรู้ของ Polarity Partnerships พบว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะในกระบวนการคิดแบบนี้ ในที่สุด เราจะย้อนกลับมาเห็นและตระหนักรู้ข้างในจิตใจไปด้วย จึงขอนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มา เขียนสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ผ่านบทความนี้ครับ

การคิดแบบ 2 ขั้ว (Polarity Thinking) คือ อะไร

การคิดแบบ 2 ขั้ว (Polarity Thinking) เกิดจากโลกของการเปลี่ยนแปลงส่วนบุคคลและการขับเคลื่อนองค์กร มักเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ได้มีแค่ “ทางเลือกที่ถูก” กับ “ทางเลือกที่ผิด” แต่กลับเป็นสถานการณ์ที่มี “สองสิ่งดี ๆ” ที่เราต้องบริหารให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สองสิ่งดี ๆ เช่นนี้ ถูกเรียกว่า Polarity หรือ ความเป็น 2 ขั้ว อย่างไรก็ตาม การเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง (Either/or) ยังอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการตัดสินใจ แต่ในยุคที่มีความสลับซับซ้อน บางครั้ง เราจำเป็นต้องขยายมุมมองใหม่ เพื่อตัดสินใจเลือกทั้งสองอย่าง (Both/and) การขยายมุมมองเช่นนี้ เรียกว่า การคิดแบบ 2 ขั้ว (Polarity Thinking)

สองขั้ว (Polarity Poles) คืออะไร

ขั้วทั้งสอง คือ ค่านิยม มุมมอง หรือพลังที่มีผลเกี่ยวข้องกัน และต่างก็มีคุณค่าในตัวเอง โดยเราจะเชื่อมขั้วทั้งสองด้วยคำว่า "และ" แทนที่คำว่า "หรือ/vs." 

  • เปลี่ยนจาก “A หรือ B” มาเป็น “A และ B”
  • เปลี่ยนจาก Work vs. Life มาเป็น Work and Life
  • เปลี่ยนจาก Control vs. Freedom มาเป็น Control and Freedom

หากเราพยายาม “เลือกด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น” เราอาจได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่จะเกิดผลเสียจากการละเลยอีกขั้วในระยะยาว

ตัวอย่างสองขั้วที่พบได้บ่อย

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น นี่คือตัวอย่างของ “สองขั้วที่ดี” ที่พบได้บ่อยในชีวิตและการทำงาน

  • ความมั่นคง และ การเปลี่ยนแปลง (Stability and Change)
  • ความมั่นใจ และ ความถ่อมตน (Confidence and Humility)
  • การควบคุม และ การให้อิสระ (Control and Freedom)
  • การริเริ่ม และ การรอจังหวะที่เหมาะสม (Initiative and Patience)
  • การโฟกัสที่งาน และ การใส่ใจในความสัมพันธ์ (Task Focus and Relationship Focus)
  • ความเป็นตัวของตัวเอง และ การเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม (Individuality and Community)
  • การอยู่กับปัจจุบัน และ การมองไปข้างหน้า (Being Present and Looking Ahead)

ขั้นตอนแรก คือ การเห็นว่ามีสองขั้วที่ดี (See the Polarity) ก่อนที่เราจะบริหารจัดการ Polarity ได้ เราต้องเห็นก่อนว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่มี "สองขั้วที่ดี" หรือไม่ และนี่คือชุดคำถามที่ช่วยให้เราระบุขั้วทั้งสองได้ชัดเจนขึ้น

ตัวอย่างชุดคำถามเพื่อค้นหา 2 ขั้ว

  1. สำหรับคุณ อะไรคือสองขั้วที่ดี ที่จำเป็นต้องบูรณาการกัน ระหว่างการขับเคลื่อนโครงการ
  2. มีสถานการณ์ไหนในชีวิต ที่เรารู้สึกตึงเครียดเพราะต้องเลือก อยู่หรือไม่ เช่น ฉันอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ แต่ก็ไม่อยากเสียความมั่นคงที่มีอยู่
  3. มีคุณค่าหรือหลักการใดบ้างที่ ทั้งสองอย่างต่างก็สำคัญ เช่น ฉันให้คุณค่าทั้ง “ความอิสระ” และ “ความรับผิดชอบต่อทีม”
  4. อะไรคือ “สิ่งดี ๆ สองอย่าง” ที่ฉันกำลังพยายามรักษาไว้พร้อมกัน เช่น การเป็นผู้นำที่ “มั่นใจ” และ “อ่อนน้อมถ่อมตน”
  5. ถ้าฉันเลือกข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป จะเกิดผลเสียอะไรขึ้นบ้าง? 
  6. ฉันเคยมีประสบการณ์ที่ขั้วทั้งสองนี้ “อยู่ร่วมกันได้” หรือ “เสริมกัน” หรือไม่

ทำความรู้จัก S.M.A.L.L. Step

เพื่อให้เราเปลี่ยนจากการมองปัญหาแบบ "เลือกข้าง" มาเป็น "การบริหารความเป็นสองขั้ว" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถใช้กระบวนการ S.M.A.L.L. Step คือแนวทางง่าย ๆ ที่ช่วยให้เราค่อย ๆ ขยับในทิศทางให้เกิดประโยชน์จากทั้ง 2 ขั้วได้อย่างยั่งยืน

SMALL Step ประกอบด้วย

  1. S – See the Polarity
    มองให้เห็นขั้วทั้งสอง ว่าเรากำลังอยู่ในความตึงเครียดระหว่างสิ่งที่มีคุณค่าสองอย่าง ทั้ง 2 อย่างมีความเชื่อมโยงส่งผลต่อกัน สามารถบูรณาการกันได้

    • "สำหรับคุณ อะไรคือ 2 ขั้วที่ดี ที่จำเป็นต้องบูรณาการกัน ในระหว่างการขับเคลื่อนเป้าหมายชีวิตและการทำงาน" คำตอบ เช่น การออกกำลังกาย และ การพักผ่อน

  2. M – Map the Polarity
    วาดภาพความสัมพันธ์ของแต่ละขั้ว โดยใช้ Polarity Map เพื่อให้เข้าใจทั้งข้อดี ข้อเสีย และสัญญาณเตือนของแต่ละด้าน 

    • ผลเชิงบวกของขั้วทางซ้าย คือ อะไรบ้าง เช่น การออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เกิดความคล่องตัว
    • ผลเชิงบวกของขั้วทางขวา คือ อะไรบ้าง เช่น การพักผ่อน ทำให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล
    • อะไรคือ Greater Purpose Statement ถ้าเกิดผลเชิงบวกจากทั้ง 2 ขั้ว เช่น เกิดสุขภาวะที่ดี
    • ถ้าทำขั้วทางซ้ายมากเกินไป โดยละเลยขั้วทางขวา จะเกิดผลเชิงลบอย่างไรบ้าง
    • ถ้าทำขั้วทางขวามาเกินไป โดยละเลยขั้วทางซ้าย จะเกิดผลเชิงลบอย่างไรบ้าง
    • อะไรคือ Deeper Fear ผลสรุปเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น
  3. A – Assess Your Current Reality

    • ในปัจจุบัน กำลังเกิดผลจากทั้ง 4 ช่อง มากน้อยแค่ไหน (ให้น้ำหนักแต่ละช่อง 1-5 คะแนน)
  4. L – Learn from the Wisdom of Each Pole

    • ขั้วแต่ละด้านบอกอะไรกับเรา เห็นการเชื่อมโยงกันอย่างไร และได้เรียนรู้อะไรบ้าง
  5. L – Leverage the Energy of Both
    ใช้พลังจากทั้งสองด้านร่วมกัน เพื่อให้ระบบทั้งหมด เคลื่อนตัวได้อย่างมีประโยชน์และยั่งยืน ไปสู่ความหมายใหม่ หรือเรียกว่า GPS (The Greater Purpose Statement)

    • ทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดผลเชิงบวก และเท่าทันผลเชิงลบ

ความท้าทาย

ขั้นตอนที่ท้าทาย คือ การเปิดใจเห็นถึงข้อดีจากทั้ง 2 ขั้ว และเห็นว่า ทั้งคู่เป็นสองขั้วที่ดี (See the polarity) การคิดร่วมกันจะช่วยให้เกิดการขยายมุมมองได้ง่ายขึ้น โดยเห็นว่า เราสามารถมองโลกแบบ “และ...ใช่ทั้งคู่” (Both/And) ไม่ใช่แค่เพียงแบบ “หรือ...อย่างใดอย่างหนึ่ง” (Either/Or) นี่คือเครื่องมือ เพื่อขยายมุมมองเราให้เปิดกว้าง พร้อมเผชิญความเป็นจริงในโลกที่สลับซับซ้อน

Run Wisdom วิทยากร กระบวนกร ที่ปรึกษา
Since:
Update:

Read : 207 times